สุนทรี เวชานนท์
Soontaree Vechanont
สุนทรี เวชานนท์ กับโฟล์คซองคำเมือง
ในความเรียบง่ายของบทเพลงโฟล์คซองคำเมือง ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในทศวรรษ ที่ 2520 นั้น อาจกล่าวได้ว่า สุนทรี เวชานนท์ เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบทเพลงและดนตรีคำเมือง ในฐานะของผู้ขับขานบอกเล่าเรื่องราว ที่ศิลปินผู้ก่อตั้งโฟล์คซองคำเมืองได้สร้างสรรค์ขึ้นมา โดยเธอกล่าวว่า
เพลงโฟล์คซองคำเมือง เป็นเพลงพื้นบ้านที่ฟังง่ายๆ ใช้ภาษาง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ โดยหยิบเอาเรื่องราวพื้นบ้านมาผูกเป็นเพลง มีการเล่าเรื่องราวเหมือนเล่านิทานหรือที่เรียกกันว่าเพลงบัลลาด (Ballad) จุดเด่นของเพลงโฟล์คซองคำเมืองคือการใช้ภาษาและใช้ดนตรีที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ซื่อๆแบบดนตรี Acoustic มีเครื่องดนตรีหลักคือกีตาร์โปร่ง Harmonica ขลุ่ย และซึง เป็นต้น และองค์ประกอบสำคัญของเพลงโฟล์คซองคำเมือง คือภาษาที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย และความเข้าใจในเรื่องราวของบทเพลงที่ต้องการถ่ายทอดให้คนฟัง
นอกจากนี้บทเพลงโฟลค์ซองคำเมืองยังมีเนื้อหาที่สื่อสารให้ผู้ฟังได้รับรู้เรื่องราวทางวัฒนธรรมของภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การกิน การอยู่ การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สงบ และสอดคล้องกับธรรมชาติของภาคเหนืออีกด้วย
ความเป็นอมตะของบทเพลงโฟล์คซองคำเมืองที่แม้ผ่านกาลเวลามามากกว่า 35 ปีแล้วนั้น อาจบอกได้ว่า การทำเพลงนั้น ศิลปินจะต้องมีวิสัยทัศน์และรอบรู้สังคมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ต้องเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลง เข้าใจบริบททางสังคม กล้าที่จะชี้นำโดยใช้ภาษาเชิงวรรณศิลป์ ปลุกจิตสำนึกและจิตวิญญาณของคนในสังคมด้วยความหวังดีและเมตตา ยกตัวอย่างเช่นเพลง “ล่องแม่ปิง” ที่จรัล มโนเพ็ชร แต่งขึ้น และสุนทรี เป็นผู้ขับขนานนั้น บทเพลงนี้สามารถโน้มน้าวให้ผู้หญิงล้านนากลับมาวางตัวและงามอ่อนโยนตามจารีตประเพณีได้อย่างน่าภูมิใจ
ผลงานที่โดดเด่น
เพลงน้อยไจยา
เป็นเพลงซอที่ขับขานและใช้ดนตรีพื้นเมือง และเป็นเพลงซอที่เกือบถูกลืมเลือน น้อยไจยา กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหนึ่งโดย จรัล มโนเพ็ชร นำมาขับร้องใหม่ ร่วมกับสุนทรี เวชานนท์ โดยใช้กีตาร์โปร่งแทนเสียงซึง วิธีการขับร้องก็ทันสมัยขึ้นในรูปแบบใหม่และสำเนียงการร้องของคนรุ่นใหม่ ถือเป็นเพลงครู เป็นบทเพลงแรกที่ขับร้องคู่กับ จรัล มโนเพ็ชร ปัจจุบันยังได้รับการขับขานจากนักร้องนักดนตรี และถือเป็นเพลงเอกเพลงหนึ่งของเพลงล้านนา ในการร้องเพลงน้อยไจยานั้น สุนทรี กล่าวไว้ว่า
“เวลาร้องเพลงหนึ่งเพลง จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของเพลงนั้น เหมือนเวลาร้องเพลงน้อยไจยา ต้องเป็นตัวแว่นแก้ว ต้องสวมบทบาทว่าขณะนั้นเราคือน้องนางแว่นแก้ว ผู้เป็นคนรักของน้อยไจยา มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีการออดอ้อน มีจิตวิญญาณของแว่นแก้ว มีอารมร์งามๆ ที่ตัดพ้อต่อว่าอย่างท่วมท้น”
เพลงสาวเชียงใหม่
เป็นเพลงที่สร้างชื่อให้กับเธอ และเมืองเชียงใหม่ บทเพลงที่มีเนื้อดนตรี และทำนอง อันเรียบง่ายนี้ ยังอยู่ในใจของผู้คนมาเป็นเวลากว่า 35 ปี
เพลงล่องแม่ปิง
เป็นเพลงที่มีความโดดเด่นที่สุด โดยมีเนื้อหาที่สื่อสารถึงอัตลักษณ์ของผู้หญิงล้านนาในอดีต เมื่อถ่ายทอดออกมาด้วยดนตรีโฟล์คที่เรียบง่าย ทำนองซอ บวกกับน้ำเสียงเยือกเย็นเหมือนน้ำแม่ปิงของเธอ จึงทำให้เพลงล่องแม่ปิงเป็นเพลงที่ผู้คนชื่นชอบมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นสัญลักษณ์ของเธอ และเมืองเชียงใหม่
เพลงมะเมียะ
เป็นบทเพลงที่นำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ล้านนาในอดีตมาแต่งเป็นบทเพลงแนวเล่าเรื่อง ด้วยเนื้อหาที่เป็นโศกนาฏกรรม และการขับขานที่ใช้อารมณ์ในการตีความ สุนทรีนำพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบทเพลงอันเศร้าโศกของการจากพรากกันระหว่างเจ้าชายเชียงใหม่และสาวพม่าซึ่งเป็นสามัญชน บทเพลงมะเมียะนี้ เธอร้องไห้ทุกครั้งที่ขับร้อง หากนับจำนวนวันที่เธอร้องเพลงมาทั้งชีวิตของเธอแล้ว อาจนับได้ว่าเธอร้องไห้กับมะเมียะมาประมาณ 7000 ครั้ง
ในคอนเสิร์ตดวงดาวในจินตนาการ ที่จังหวัดเชียงใหม่ สุนทรี ได้ประพันธ์ลำนำก่อนเข้าเพลงเอื้องแซะ โดยนำเนื้อหาจากวรรณกรรมเรื่องเจ้าจันทร์ผมหอม ซึ่งมีฉากที่พ่อเลี้ยงปีนหน้าผาไปเก็บดอกเอื้องแซะมาให้เจ้าจันทร์ โดยโยงเข้ากับเนื้อหาในเพลงเอื้องแซะ ได้อย่างงดงาม
การสอนภาษาคำเมืองให้กับตัวละครชื่อ แม้นเมือง ในเรื่องราคนครา นำแสดงโดยคุณณฐพร เตมีรักษ์โดยการถอดเสียงจากบทละครออกมาเป็นภาษาเหนือ และเขียนออกมาเป็นภาษาไทย ซึ่งวรรณยุกต์ต้องตรงกับเสียงอ่าน และสำเนียงเหนือของคุณสุนทรี จากนั้นคุณสุนทรีก็อัดเสียงส่งให้ฟังเทียบกับภาษาเขียน ในการถอดบทละครออกมาเป็นคำเมืองนั้น พบว่ามีการใช้คำที่มีวรรณศิลป์ที่เหมาะสมกับเจ้าหญิงเมืองเหนือ การให้อารมณ์ในน้ำเสียง ซึ่งภาษาที่ใช้นี้มาจากประสบการณ์การอ่าน การใช้ภาษาของคุณสุนทรี คำหลายๆคำที่ตัวละครพูด เป็นคำเฉพาะที่คุณสุนทรีใช้ โดยที่ตัวละครก็ถ่ายทอดสำเนียงออกมาได้ถูกต้อง ชัดเจน
ตัวอย่างการพูดภาษาเหนือของคุณณฐพร เตมีรักษ์ ซึ่งพูดภาษาเหนือตามบทละครที่คุณสุนทรีเป็นที่ปรึกษาในการพูดถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาเหนือ





